วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลักการทำงาน 10 ประการของในหลวง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประมวลไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท 10 ประการ ดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 ทำงานอย่างผู้รู้จริง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นในเรื่อง "ความรู้" หรือความเป็นผู้รู้จริง ก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนในทุกเรื่อง ทรงศึกษาหาความรู้เป็นอันดับแรก โดยจะทรงค้นคว้าจากเอกสารต่าง ๆ ศึกษาอย่างละเอียดในแต่ละเรื่อง เมื่อพร้อมแล้วจึงลงมือทำ ทุกคนจึงควรเป็นผู้รู้จริงในการทำงานเพื่อให้ผลงานเป็นที่ยอมรับ และบังเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย
ข้อที่ 2 มีความอดทน มุ่งมั่น ยึดธรรมะและความถูกต้อง
                ตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่ทรงงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือเรื่องความถูกต้องยิ่งกว่าสิ่งใด นอกจากนั้นยังทรงทนเผชิญปัญหานานาประการโดยรับสั่งว่าตามปกติโครงสร้างทั่ว ๆ ไปของสังคมจะเป็นรูปพีระมิด มีพระเจ้าแผ่นดินเปรียบเหมือนอยู่บนยอดพีระมิด แต่โครงสร้างของสังคมไทยเป็นพีระมิดหัวกลับ คือ  พระเจ้าแผ่นดิน   แทนที่จะอยู่บนยอดกลับต้องมารองรับทุกอย่างที่ก้นกรวยแทน ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท ว่า "เพราะฉะนั้น เรื่องความอดทนนั้น ขอให้มองพระเจ้าอยู่หัวไว้แล้วพยายามทำตามให้ได้"
ข้อที่ 3 ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย และประหยัด
                พระบรมฉายาลักษณ์ที่ประชาชนชาวไทยพบเห็นจนชินตาก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์สูทแบบเรียบง่าย สะพายกล้องที่พระศอ ในพระหัตถ์เต็มไปด้วยเอกสาร น้อมพระวรกายไปหาประชาชนเพื่อทรงสอบถามทุกข์สุขและปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมักจะทรงประทับบนพื้นเดียวกันกับประชาชนเสมอ ข้าราชการจึงสมควรปฏิบัติตนในข้อนี้ให้ได้
ข้อที่ 4 มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก
                ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ทรงงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยไม่ทรงคำนึงถึงพระวรกายเลยแม้แต่น้อย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเล่าไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท ว่า "เคยเข้าไปขอพระราชทานพร บอกวันนี้วันเกิดพระพุทธเจ้าค่ะ ขอพระราชทานพรพระราชทานว่าอย่างไร "ขอให้มีร่างกายที่แข็งแรงเพื่อสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นเขาได้ ขอให้มีความสุขจากการทำงาน และขอให้ได้รับความสุขจากผลสำเร็จของงานนั้น" เห็นได้ว่า ทุกสิ่งในพระราชดำริและที่ทรงปฏิบัติเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งสิ้น
ข้อที่ 5 รับฟังความเห็นของผู้อื่น และเคารพความคิดที่แตกต่าง
                ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท ว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2546    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเตือนทุกฝ่ายให้  “นั่งปรึกษาหารือกัน ฟังเขาแสดงเหตุแสดงผลออกมา แล้วเราแสดงเหตุแสดงผลออกไป แล้วดูซิเหตุผลอันไหนจะยอมรับได้ถูกต้องมากกว่า และเมื่อตกลงกันแล้วก็เลิกเถียงกัน ลงมือปฏิบัติเลย" โดยเฉพาะ เมื่อจะทำอะไรให้นึกถึง "บ้าน" ซึ่งก็คือ "บ้านเมือง" หรือแผ่นดินไทย" ให้มากที่สุด
ข้อที่ 6 มีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นในเรื่องที่ทรงปฏิบัติมาก ทรงงานทุกวันไม่มีวันเสาร์
วันอาทิตย์ ไม่มีกลางวัน กลางคืน และทรงเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านเกษตร
และอื่น ๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าราชการจึงต้องมีจิตสำนึกในการบริการ มีความขยัน และตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อประชาชน
ข้อที่ 7 มีความสุจริต และความกตัญญู
                ทรงแสดงให้ประจักษ์ในเรื่องของความกตัญญูต่อพระราชมารดาต่อแผ่นดินและต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะส่วนรวม ทรงเตือนให้ยึดสิ่งนี้ไว้เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็น มีความสำคัญ และมี
คุณค่ายิ่ง
ข้อที่ 8 พึ่งตนเอง ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง
                พึ่งตนเอง หรือเศรษฐกิจพอเพียง คือ การวางเส้นทางชีวิตของตนเองให้เรียบง่าย ธรรมดา และเดินสายกลาง เป็นทฤษฎีสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท ว่า "เศรษฐกิจพอเพียงนี้ พระเจ้าอยู่หัวบอกว่าคำที่สำคัญที่สุดในเรื่องราวที่อธิบายมานี้คือคำว่า "พอ" ทุกคนต้องกำหนดเส้นความพอให้กับตนเองให้ได้ และยึดเส้นนั้นไว้เป็นมาตรฐานของตนเอง"
ข้อที่ 9 รักประชาชน
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชน และทำงานเพื่อประชาชน ครั้งหนึ่งมีรับสั่งกับ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลว่า ทรง "ทำราชการ" ดังนั้น คนที่ "รับราชการ" ซึ่งถือว่า รับงานของราชามาทำต่อ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือต้องรักประชาชน และทำงานเพื่อประชาชน เฉกเช่นเดียวกับพระองค์

 ข้อที่ 10 การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
                ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในหนังสือ หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาทว่า พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า "รู้ไหมบ้านเมืองอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะคนไทยเรายัง "ให้" กันอยู่" ทั้งนี้ เพราะคนในครอบครัวยังรักและดูแลกัน คนในชุมชนยังเอื้อเฟื้อกัน ข้าราชการยังให้บริการแก่ประชาชนและทุกคนยังรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งยากจะหาได้ที่ไหนในโลกนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในทุกด้าน สมควรที่จะดำเนินรอยตามพระยุคลบาทด้วยหลักปฏิบัติ 10 ประการดังกล่าวข้างต้น และหากประชาชนทุกสาขาอาชีพ และคนไทยทุกคนได้ทบทวน ยึดถือ และน้อยนำไปปฏิบัติดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติแล้ว จะสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยดี สังคมจะสงบสุข และประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

โอ่งของมาร์ติน


จะเลือกเติมน้ำให้เต็มตุ่ม หรือ อุดรูรั่ว ไม่ให้น้ำไหลออกจนหมด


ชุมชนเป็นสุข

สุขแบบไทย เย็นและมีน้ำใจ

เศรษฐกิจพอเพียง รากฐานของชีวิต







พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ








"เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะอยู่มั่นคงก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป "